แผนกลยุทธ์ สกสว.
“เพื่อขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวให้สัมฤทธิ์ผล สกสว. จึงได้จัดทำแผนกลยุทธ์ สกสว. พ.ศ. 2564 - 2566 เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการนำไปสู่การเป็น ‘องค์กรสมรรถนะสูง’ ในการขับเคลื่อนนโยบายด้าน ววน. และจัดการระบบงบประมาณของกองทุน ววน. ให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ตอบสนองต่อทิศทางการพัฒนาประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี”
แผนกลยุทธ์ สกสว. พ.ศ. 2564 - 2566 มุ่งพัฒนาการขับเคลื่อนแผนและนโยบายด้าน ววน. การจัดสรรงบประมาณด้าน ววน. ของประเทศให้มีประสิทธิภาพ สร้างการทำงานแบบเป็นหุ้นส่วนกับหน่วยงานต่างๆ มีระบบติดตามประเมินผล ตลอดจนมีระบบการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ให้เกิดผลลัพธ์และผลกระทบสู่สังคมอย่างชัดเจน ซึ่งประกอบไปด้วยกลยุทธ์ที่สำคัญ 5 กลยุทธ์ ได้แก่
กลยุทธ์ที่ 1 กำหนดทิศทางและขับเคลื่อนการสร้างผลงานด้าน ววน. ให้เกิดผลกระทบสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยการวางแผนและการจัดสรรงบประมาณให้เกิดผลสัมฤทธิ์ รวมถึงการพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างผลงานและนำผลงานไปใช้ประโยชน์ มุ่งเน้นการกำหนดทิศทางและจัดลำดับความสำคัญของการลงทุนด้าน ววน. ที่สร้างผลกระทบสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ผ่านกลไกการเพิ่มศักยภาพระบบการวางแผน จัดสรร และบริหารงบประมาณให้สอดคล้องกับทิศทางยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นปัญหา และสภาพความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมโลก พัฒนาระบบ/กลไกการประเมินผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI/SROI) ระดับแผนงาน พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ และการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึกเพื่อใช้ในการวางแผนและจัดสรรงบประมาณ และพัฒนากลไกการคาดการณ์และติดตามความเปลี่ยนแปลงในอนาคต (Strategic Foresight) เพื่อใช้ในการวางแผนและจัดสรรงบประมาณ
กลยุทธ์ที่ 2 บูรณาการและขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับกองทุนและหน่วยงานอื่นเพื่อให้การลงทุนด้าน ววน. มีทิศทางและเป้าหมายที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้าน ววน.ของประเทศ มุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อผลักดันให้เกิดการเพิ่มงบประมาณด้าน ววน. ให้มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นและเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ผ่านกลไกการบูรณาการการทำงานในเชิงรุก สร้างความเชื่อมั่นร่วมกับกองทุนอื่น และการลงทุนในภาครัฐและเอกชนในระบบนิเวศด้าน ววน.
กลยุทธ์ที่ 3 สร้างการทำงานแบบเป็นหุ้นส่วนกับหน่วยบริหารและจัดการทุนและหน่วยงานในระบบ ววน. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานเข้มแข็งในการส่งมอบผลงานเพื่อให้การลงทุนด้าน ววน. เกิดประสิทธิผลและความเชื่อมั่นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อสร้างความเชื่อมั่นร่วมกันและขับเคลื่อนให้เกิดประสิทธิผลของระบบ ววน. โดยเสริมสร้างและการพัฒนาระบบหรือกลไกในการบริหารจัดการทุนร่วมกันระหว่างหน่วยงานในระบบ ววน. อันประกอบไปด้วย เครือข่าย ววน. เครือข่าย PMU กลุ่มผู้กำหนดนโยบาย กลุ่มผู้ผลิตงานวิจัย รวมถึงกลุ่มที่สนับสนุนงบประมาณด้านการวิจัย ภายใต้การทำงานร่วมกันในรูปแบบหุ้นส่วนทางกลยุทธ์ (Strategic Partnership)
กลยุทธ์ที่ 4 สื่อสารสาธารณะเพื่อให้ประชาชน ประชาคมวิจัย และผู้กำหนดนโยบาย ตระหนักในความสำคัญของระบบ ววน. และบทบาทของ สกสว. มุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญของระบบ ววน. และเข้ามามีส่วนร่วมกับการขับเคลื่อนร่วมกัน โดยมุ่งเน้นการสื่อสารที่ชัดเจนระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
กลยุทธ์ที่ 5 ออกแบบโครงสร้างองค์กรใหม่ ยกระดับบุคลากรเพื่อให้มีความยืดหยุ่น ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและรองรับการทำงานร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในระบบ ววน. การขับเคลื่อนนโยบายและบริหารกองทุนให้เกิดผลสัมฤทธิ์ มุ่งเน้นการพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนให้ สกสว. มีขีดความสามารถและศักยภาพในการขับเคลื่อนเป้าหมายทางกลยุทธ์ที่ได้กำหนดไว้ โดยให้ความสำคัญกับการจัดวางโครงสร้างองค์กรให้มีความเหมาะสมกับการขับเคลื่อนภารกิจ การยกระดับบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถและศักยภาพที่สอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนา มีความยืดหยุ่น และทันต่อความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกที่เกิดขึ้น
เอกสารแนบ


รู้จัก สกสว.








