ข่าวประชาสัมพันธ์ สกสว.
21 กุมภาฯ วันภาษาแม่สากล มหิดลชู “ภาษาแม่” เป็นสื่อกลางสร้างความเข้าใจ ท่ามกลางความแตกต่างของผู้คน
ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา - วัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม.มหิดล ร่วมกับ สกว. และ ยูเนสโก (UNESCO) จัดงานประชุมเสวนา วันภาษาแม่สากล ผู้เชี่ยวชาญชี้ ภาษาบนโลกนี้จะตายไปกว่า 90% ภายในศตวรรษที่ 21 หากขาดการอนุรักษ์
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา - วัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม.มหิดล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จัดงานประชุมเสวนา วันภาษาแม่สากล “ระบบเขียนภาษาแม่ : ฐานรากของความสำเร็จ รางวัล และอนาคตที่ยั่งยืน” ณ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเฉลิมฉลองรางวัลแห่งการฟื้นฟูภาษาแม่ของกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงถอดบทเรียนการทำงานฟื้นฟูภาษาสำหรับกำหนดทิศทางการทำงานเพื่อการฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นในอนาคตโดยมีแนวคิดหลักที่ต้องการให้ “ภาษาแม่” เป็นสื่อกลางในการสร้างความเข้าใจและก่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายและความแตกต่างของมนุษย์ โดยในปีนี้จะมุ่งเน้นประเด็น “การส่งเสริมการศึกษาประชากรโลกอย่างยั่งยืนผ่านกระบวนการจัดการศึกษาแบบพหุภาษา” ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นการส่งเสริมการศึกษาของประชากรโลกอย่างยั่งยืนผ่านกระบวนการจัดการแบบพหุภาษาของยูเนสโก
น.ส.มิรินด้า บูรรุ่งโรจน์ นักวิจัยจาก ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา - วัฒนธรรมในภาวะวิกฤตสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม.มหิดล กล่าวว่า “วันภาษาแม่สากล” มีจุดเริ่มต้นจากเหตุการณ์เรียกร้องสิทธิและเสรีภาพในการใช้ภาษาบังคลา หรือภาษาเบงกาลี ซึ่งเป็นภาษาแม่ของนักศึกษาชาวบังกลาเทศในประเทศปากีสถาน ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ในปี พ.ศ. 2495 ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดการบาดเจ็บและสูญเสีย เพื่อให้มนุษยชาติตระหนักถึงพลังและความสำคัญของภาษาแม่ รวมถึงสิทธิทางภาษาของทุกกลุ่มชาติพันธุ์บนโลกใบนี้ ยูเนสโกจึงได้กำหนดให้วันที่ 21 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันภาษาแม่สากล เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 เป็นต้นมา โดยภาษาแม่หรือภาษาท้องถิ่น นับเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาการอ่านออกเขียนได้ของเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์
ศาสตราเกียรติคุณ ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ ประธานที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษา – วัฒนธรรมในภาวะวิกฤต และนักวิจัย สกว. กล่าวปาฐกถาในเรื่อง “ระบบเขียนภาษาแม่ : ฐานรากของความสำเร็จ รางวัลและอนาคตที่ยั่งยืน” ว่า ถ้าหากไม่มีแนวทางในการอนุรักษ์ภายในศตวรรษที่ 21 ภาษาบนโลกนี้จะตายไปกว่า 90% ทั้งนี้ภาษาต่างๆ ประมาณ 10% ที่ไม่ตายเพราะเป็นภาษาประจำชาติภาษาที่มีการใช้ในโรงเรียน ภาษาในการปกครอง ภาษาในสื่อมวลชน ภาษาแม่หรือภาษาของชาติพันธุ์ถือเป็นทรัพยากรของประเทศ อย่างงานวิจัยที่ผ่านมาพบว่าเด็กที่เติบโตมากับการใช้ภาษาแม่ของตนเอง จะไม่คุ้นชินเวลาที่เรียนในระบบโรงเรียนไทยที่ใช้ภาษาไทยเป็นเครื่องมือ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดโครงการวิจัย “การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาท้องถิ่นและภาษาไทยเป็นสื่อ : กรณีการจัดการศึกษาแบบทวิภาษา (ภาษาไทย-ภาษามาลายูถิ่น) ในโรงเรียนเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ในปี พ.ศ.2549 ที่ได้รับรางวัล King Sejong Literacy Prize จากองค์การยูเนสโกไปเมื่อเดือนกันยายน 2559 ซึ่งช่วยพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในโรงเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนทำให้เด็กไม่รู้สึกว่าการที่เขาสอบได้คะแนนไม่ดีเพราะเรียนโดยใช้ภาษาไทยเป็นสื่อไม่ได้หมายความว่าเขาไม่เก่ง

ด้าน ผศ.ดร.บัญชร แก้วส่อง ผอ.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สกว. กล่าวถึงทิศทางการทำงานเพื่อการฟื้นฟูภาษาและภูมิปัญญาท้องถิ่นในอนาคตว่า ประการที่ 1.การวิจัยด้านภาษาแม่มีความสำคัญ เพราะช่วยสร้างโอกาสให้คนเล็กคนน้อยในชาติพันธุ์ต่างๆมีจุดยืนในสังคม โดยที่ผ่านมามีการวิจัยจนภาษาชาติพันธุ์ต่างๆ ขึ้นทะเบียนภาษาไปแล้วกว่า 15 ภาษา 2.ในส่วนของพื้นที่ที่ทำวิจัยไปแล้ว ตนไม่อยากให้จบอยู่ที่ว่าเป็นงานวิจัยและได้ตัวเขียน อยากให้มี “งาน” ที่เติมพลังคนในชุมชนให้มากขึ้น ผ่านหลักคิดที่ว่าคนในชุมชนยังขาดความรู้อะไร ควรมีการเอาระบบเขียนของตนเองมาศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนของตน เช่นข้อมูลเรื่องผักพื้นบ้านอาหารพื้นเมืองจะมีการบันทึกไว้ในชุมชนหรือไม่ ทั้งนี้เรื่องภาษานั้นเป็นเรื่องที่ไม่ได้อยู่อย่างโดดๆ แต่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นทั้งการสื่อสาร ความสัมพันธ์ ความรัก ฯลฯ 3.ประเด็นที่น่าสนใจอีกอย่างคือความเชื่อมโยงระหว่างภาษาแม่กับเศรษฐกิจฐานราก ที่คิดให้คนเล็กคนน้อยทำเรื่องเศรษฐกิจเพื่อผลประโยชน์ของชุมชนท้องถิ่น สร้างรายได้ที่คนในชุมชนพึงพอใจแต่ไม่ให้รายได้มาทำลายความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ดังเห็นได้จากการมี “การท่องเที่ยวชุมชน” โดยต้องไม่ใช่การท่องเที่ยวที่ชุมชนเป็นผู้ถูกกระทำแต่ชุมชนต้องเป็นคนจัดการ ฟื้นฟูพลังของคน ไม่ใช่การได้ประโยชน์ของนายทุน ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้สอดคล้องกับแนวคิด “เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์”
งานสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ชั้น 14 อาคารเอส เอ็ม ทาวเวอร์ 979/17-21 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400